ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

คำพิพากษาฎีกาแพ่งที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2339/2551
ป.พ.พ. มาตรา 349, 350, 361, 366 วรรคสอง

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัง กล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4595/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1388

บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทาง เดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดิน ที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟ้ฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดิน ที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าตามแนวยาวของทาง ภาระจำยอมด้านข้าง ไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการ เปลี่ยนแปลงในทางภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้
หมาย เหตุ (โดยท่านอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ) ภาระจำยอมเรื่องทางเดิน เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3378/11 และ 214/21 วินิจฉัยว่า การปักเสาไฟฟ้า วางสายไฟฟ้าบนทางภาระจำยอมเป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระ เพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 แต่คดีนี้เป็นภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงต่างกัน ทั้งบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงเจริญมากขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่เดินตามแนวเดิม

คำพิพากษาฎีกาที่ 796/2552
อ่านหนังสือถาม-ตอบ เล่ม 4 ของท่านสมชายเจอฎีกาเกี่ยวกับโรงเรือนรุกล้ำที่น่าสนใจอยู่ 2 กลุ่ม คือ 796/2552 กับ 381/2551, 6593/2550 ท่านสมชายให้ข้อสังเกตว่า คำพิพากษาฎีกาปี 52 นี้ไม่ได้กลับบรรทัดฐานอีก 2 ฎีกา แต่ที่ผลออกมาต่างกันเพราะข้อเท็จจริงตาม 796/52 ที่ดินสองแปลงอยู่แล้ว และเจ้าของที่ดินปลูกบ้านคร่อมที่ดินทั้งสองแปลง แต่ข้อเท็จจริงที่ 381/51, 6593/50 เจ้าของที่ดินปลูกบ้านบนที่ดินแปลงเดียวกันแล้วมีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น สองแปลง และ 796/52 สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330 ซึ่งต่างจาก 381/51,6593/50 ที่รับโอนที่ดินกันตามนิติกรรมสัญญาทั่วไปไม่ใช่การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล

คำพิพากษาฎีกาที่ 796/52
ป.พ.พ. ม. 4, 1312, 1330, 1335, 1336
จำเลย ปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและ มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึด ถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดย มิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูก สร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดิน พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและ สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาฎีกา 2055/36
จากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
1.เช็ค พิพาทเป็นเช็คผู้ถือสามารถโอนด้วยการส่งมอบเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 โอนเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการสลักหลังและส่งมอบ ความจริงการสลักหลังนั้นไม่ใช่เป็นการสลักหลังโอนแต่เป็นการรับอาวัลเท่า นั้น เพราะว่าเป็นตั๋วผู้ถือไม่ใช่ตั๋วระบุชื่อ
2.คดีนี้ไม่มีประเด็นโดน ตรงว่าโจทก์เป็นผู้ทรงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นกรณีตามมาตรา 917 นำมาปรับใช้เพราะว่าเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันขึ้นมาไม่ได้โต้เถียงกันไปถึง ประเด็นว่าตั๋วผู้ถือนั้นจะมีการห้ามเปลี่ยนมือได้หรือไม่ ท่านศาสตราจารย์จิตติ มีความเห็นว่า เช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือผู้ถือซึ่งไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ ถือออก ถ้ามีข้อความระบุว่าให้จ่ายเงินแก่ผู้รับเงินเท่านั้นก็หมายความว่าเป็นเช็ค ระบุชื่อซึ่งห้ามโอนไม่ถือว่าเป็นตั๋วผู้ถือ แต่ว่าฎีกาฉบับนี้ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้โดยตรงเป็นเพียงการตอบคำถามว่า เป็นผู้ทรงหรือไม่เป็นผู้ทรงเท่านั้น
3.ข้อความตอนท้ายที่ว่าส่วนจำเลย ที่ 4 คือธนาตารเป็นเพียงคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 กรณีนี้หมายความว่า ธนาคารเกี่ยวข้องกับผู้สั่งจ่ายเท่านั้นไม่มีนิติสัมพันธ์อะไรกับโจทก์ซึ่ง เป็นผู้ทรง เพราะฉะนั้นโจทก์จะฟ้องธนาคารเมื่อไม่มีการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไม่ได้ทั้ง ไม่เป็นกรณีละเมิดด้วย
4.ถ้อยคำตามมาตรา 917 ที่ว่าเมื่อตั๋วเงินมีข้อกำหนดว่าเปลี่ยนมือไม่ได้หรือข้อความทำนองเดียวกัน แล้วก็มีผลตามมาตรานี้ว่าตั๋วนั้นจะโอนกันได้ก็แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่าง การโอนหนี้สามัญ
(**ที่มา คำอธิบาย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ท่านประทีป เฉลิมภัทรกุล)

คำพิพากษาฎีกาที่ 5740/2551
ป.พ.พ.มาตรา 1349, 1359
ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น

โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ส. น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้ง แปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่น ซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ได้ เพราะ ส. สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของตนเอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับของจำเลยไว้เพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น