ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

คำถาม ทรัพย์ (แต่งเอง)

คำถาม
ดาวเป็นเจ้าของที่ดิน 2 ไร่ โดยดาวได้ปลูกบ้านลงบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินของดาวมีที่ดินของหนึ่ง สอง สาม สี่ ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่สาธารณะ แต่ดาวได้อาศัยที่ดินของหนึ่งเดินออกสู่ทางสาธารณะ โดยหนึ่งยินยอม ต่อมาดาวได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง แปลงละ 1 ไร่ โดยบ้านส่วนใหญ่อยู่บนที่ดินแปลงที่หนึ่ง บ้านส่วนน้อยอยู่ที่ดินแปลงที่สอง เป็นเนื้อที่ 10 ตารางวา ต่อมาดาวได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่ 2 ให้ต้น โดยต้นก็ทราบว่าที่ดินแปลงที่ 2 นั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ต้นเห็นว่าสามารถเดินผ่านที่ดินของสองออกสู่ทางสาธารณะได้ซึ่งสะดวกและเสียน้อยกว่าที่ดินแปลงอื่น เมื่อต้นเดินผ่านไปได้ 1 ปี สองได้เอารั้วมากั้นไม่ให้ต้นเดินผ่าน และเห็นว่าบ้านของดาวได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน

1.ต้นฟ้องขอให้บังคับสองเปิดทาง สองให้การต่อสู้ว่าต้นต้องผ่านที่ดินของดาวที่แบ่งขายให้ต้นเท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ต้นได้ที่ดินมาจากการแบ่งแยกของสองตามมาตรา 1350 ดังนั้น ต้นไม่มีสิทธิเดินผ่านที่ดินของสอง ถามว่าต้นจะฟ้องขอให้สองเปิดทางได้หรือไม่ ข้อต่อสู้ของสองฟังขึ้นหรือไม่
2.ต้นฟ้องขอให้ดาวรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของต้นได้หรือไม่

อยู่ในระหว่างการจัดทำเฉลย

คำพิพากษาฎีกา
D3408/51
ป.พ.พ. มาตรา 1349, 1350
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 จะนำมาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ครั้นเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่คดีนี้เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดนผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตามมาตรา 1349

ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ได้หลายทาง คือ ทางแรกโจทก์สามารถผ่านที่ดินของ ส. ผู้ซึ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไปออกทางที่ดินของ ด. โดย ส. และ ด. มิได้หวงห้าม ทางที่สองโจทก์สามารถออกทางที่ดินของ ป. และทางที่สามคือ ทางพิพาทนั้น โจทก์เพิ่งมาใช้ในภายหลัง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของ ส. ด. และ ป. ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 เดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมากและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


D5103/47ป.พ.พ. มาตรา 1349
การขอทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต กล่าวคือ ต้องไม่รู้ว่าที่ดินที่ตนได้มาถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะมาก่อน หากรู้มาก่อนถือว่าไม่สุจริตไม่มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้แต่อย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป เพราะสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ ซึ่งหากจำเลยได้รับความเสียหายจากการเปิดทางจำเป็นดังกล่าว จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 1349 วรรคสี่

มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น กับต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ตามมาตรา 1349 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์อยู่มีสภาพเป็นทางซึ่งใช้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว จึงเป็นทางจำเป็นที่สะดวกที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด

แม้ทางจำเลยที่โจทก์ขอผ่านจะเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้น และตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร แม้มีกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้วทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18, 30 วรรคแรก และ 32 ก็ตาม แต่เมื่อถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินที่ตกเป็นสาธารณูปโภค จึงหาขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 ไม่

D381/51ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312
การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น