ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

ประเด็นที่น่าสนใจ

1. ประเด็นเรื่องการได้มาโดยพินัยกรรม (มาตรา 1299)

การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ถ้าเป็นการได้มาโดยทางพินัยกรรม ต้องแยกพิจารณาโดยถือตามแนวฎีกาดังนี้

1) พินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม อยู่ในบังคับมาตรา 1299 วรรคสอง (D1812/06)

D1812/06 ตามทางพิจารณาได้ความว่าที่พิพาทและที่ภายในเส้นสีดำตามแผนที่วิวาทเดิมเป็นที่ของนางเวียง แล้วตกได้แก่นางเพิ่มและนายคงบุตรสาวและบุตรเขย ต่อมานางเพิ่มตาย นายคงได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินรายนี้ให้โจทก์ นายคงตายที่ดินจึงตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ เพราะที่ดินเป็นของโจทก์แล้วตามพินัยกรรมโจทก์หาจำต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่พิพาทแล้วจึงจะมีอำนาจฟ้อง

2) พินัยกรรมให้สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมอยู่ในบังคับ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง (D1840/14(ป))

D1840/14(ป) การที่จำเลยร่วมได้มาซึ่งสิทธิอาศัยอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยพินัยกรรม เป็นการได้สิทธิมาโดยนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคต้น จำเลยร่วมมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิอาศัยกับพนักงานเจ้าหน้าที่สิทธิอาศัยของจำเลยร่วมจึงไม่บริบูรณ์ การที่จำเลยเข้าอยู่ในเรือนพิพาทเพราะจำเลยร่วมให้อยู่แทนโดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมผู้หนึ่งมิได้ยินยอม เป็นการเข้าอยู่โดยไม่มีสิทธิ เป็นการละเมิดต่อโจทก์

2. ประเด็นเรื่องโรงเรือนรุกล้ำ มาตรา 1312

หลัก
วรรคหนึ่ง บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต บุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้นแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

1. ต้องพิจารณาว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นโรงเรือนตามความหมาย มาตรา 1312 หรือไม่
การสร้างโรงเรือนตามมาตรา 1312 หมายถึงการสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัย ดังนั้น จึงไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่น เช่น
- เสากำแพง (2036/36)
- ถังส้วม (2316/22)
- ฮวงซุ้ยหรือหลุมฝังศพ
- โรงรถ ท่อประปา ปั้มน้ำ แท็งค์น้ำ (951-952/42)

2.ต้องพิจารณาว่าเป็นการรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นนั้น ส่วนที่รุกล้ำจะต้องเป็นส่วนน้อย ส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนปลูกสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ (3680/28)


3.ต้องพิจารณาว่าขณะก่อสร้างโรงเรือนผู้สร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่น
- ถ้ารู้ว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่น ถือว่าเป็นการก่อสร้างโดยไม่สุจริต
- ถ้าไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนจึงสร้างโรงเรือนไป ภายหลังรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต

ผล ของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
1. บุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้นแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม
2. ภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วรรคสอง ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

สิทธิของเจ้าของที่ดินในกรณีที่บุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการไม่สุจริต
1. สิทธิที่จเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป
2. สิทธิที่จะให้ผู้สร้างโรงเรือนทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ข้อสังเกต
มาตรา 1312 ยังนำไปใช้กับบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีที่มีการปลูกบ้านลงบนที่ดินแล้วมีการแบ่งแยกที่ดิน ทำให้บ้านบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนแบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว (381/51)

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการนำมาตรา 1312 ไปใช้กับบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2552
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312, 1330, 1335, 1336

จำเลยปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2551
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312

การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 142 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685 - 3686/2546
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1310, 1312

บริษัท ด. เจ้าของที่ดินได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหาขายโดยด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 2 เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง 11 คูหาจำเลยที่ 4 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2525 ส่วนจำเลยที่ 5 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2536จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2537 ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในกรณีรั้วคอนกรีตที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะกระทำไปโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ได้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1312 และมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 จึงต้องรื้อออกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2743/2541
ป.พ.พ. มาตรา 4, 420, 438, 1310, 1312, 1314, 1336

จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุง ถนนบนที่ดิน ที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน 4 ต้น โดยมี ส.เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนน และโจทก์รู้เห็นการก่อสร้างทั้งโจทก์และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ที่ 1 และที่ 3 ได้ โจทก์ตั้งหัวเรื่องในคำฟ้องว่า ละเมิด เรียกค่าเสียหายแต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า หากการรื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์คำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายรวมทั้งการปลูกสร้างรุกล้ำอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ด้วยศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ได้ สิ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ เมื่อเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ป.พ.พ. มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย และเมื่อสิ่งปลุกสร้างคดีนี้ เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ย่อมไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น