ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่ออกข้อสอบฟื้นฟูกิจการ (อัพเดท 7/3/54)

ฟื้นฟูกิจการ
เรื่องที่ออกข้อสอบ
1. การร้องขอฟื้นฟูกิจการ
                หลักเกณฑ์
                1) ผู้มิสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/2)
                2) ลักษณะของลูกหนี้ที่จะขอให้ฟื้นฟูกิจการ (90/3)
                3) ลักษณะของเจ้าหนี้ที่จะขอให้ฟื้นฟูกิจการ (90/4 (1))
                4) กรณีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ต้องได้รับความยินยอมให้ร้องขอฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/4 วรรคท้าย)
                5) กรณีต้องห้ามขอฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/5)
                6) ลักษณะคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/6)
                7) การถอนคำร้องขอ (มาตรา 90/8)
                8) การไต่สวนคำร้องขอ (มาตรา 90/9)
                9) การยื่นคำคัดค้าน (มาตรา 90/9 วรรคสาม)
2. สภาวะพักชำระหนี้
3. ผู้ทำแผน
4. การขอรับชำระหนี้
5. แผนฟื้นฟูกิจการ
                5.1 การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
6. การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผน
7. ผลของคำสั่งชอบด้วยแผน
                7.1 คำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนของศาลฎีกา

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

เพิ่มเติมรายละเอียด ฎีกาพระธรรมนูญเดือนกุมพาพันธ์

คำพิพากษาฎีกาที่  7651/2552



ป.อ. มาตรา 326, 328
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5), 26



------โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วย แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26
------โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
------จำเลยให้การปฏิเสธ
------ระหว่างพิจารณา จ่าสิบตำรวจเสถียรผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
------ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
------โจทก์อุทธรณ์
------ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
------จำเลยฎีกา
------ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมโดยการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกระจายเสียงป่าวประกาศ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วยก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลจังหวัด องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนตามมาตรา 26 ดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้แล้วพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26 และเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
------พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ




คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3977/2553



พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24(2), 25, 26
ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246, 247, 290

------ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
 

------คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
------ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้
------โจทก์ จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้าน
------ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์สินในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ แต่ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ไม่อาจขอเฉลี่ยทรัพย์สินในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
------ผู้ร้องอุทธรณ์
------ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
------ผู้ร้องฎีกา
------ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
-------พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ




คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1555 - 1558/2553



พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4)

------โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวนไป การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษานั้น ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน จนเป็นเหตุให้ทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน 300,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)
 


------คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสี่สำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2
------สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 112,499.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
------จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
------สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 84,375 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 75,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
------จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
------สำนวนที่สามโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 78,749.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 70,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
------จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
------สำนวนที่สี่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,523.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 57,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
------จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
------ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อคดีทั้งหมดได้รวมการพิจารณาแล้ว ต้องเอาจำนวนเงินตามสัญญากู้ทุกฉบับมาคิดคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท รวมเป็นทุนทรัพย์จำนวน 333,148.55 บาท เกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 จึงให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสาม ให้จำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ และคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ แต่ให้เหลือไว้ไม่น้อยกว่า 200 บาท
------โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
------ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมาในฟ้องเดียวกันที่จะต้องรวมทุนทรัพย์ตามสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับเข้าด้วยกัน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวนไป การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษานั้น จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน แม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน จนเป็นเหตุทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน 300,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
------พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ