ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สำนักวิชาการ ปี 51 เล่ม 8 (น่าสนใจ)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3745/2551
การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่ากับบริษัท อ. ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ โจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ที่จะต้องที่ให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย

เมื่อบริษัท อ. ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และบริษัท อ. เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัท อ. จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจนจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ

เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ตามเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป้นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งค่าเงินจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัท อ. รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงิน โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าวื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2551
การหักกลบลบหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกัน และต้องมีมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ มีวัตถุแห่งหนี้เหมือนกัน เช่น เงินต่อเงินหรือสิ่งของต่อสิ่งของ และหนี้ทั้งสองฝ่ายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะนำมาขอหักกลบลบหนี้กันได้ จำเลยเป็นหนี้ค่าจ้างค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เงิน แม้จำเลยจะโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่ฝ่ายเดียว เพราะโจทก์มีหนี้ที่ต้องส่งคืนวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยังไม่ได้ทำการชุบสีให้แก่จำเลยก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวหามีมูลหนี้อันเป็นวัตถุอยางเดียวกันไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว แต่อย่างไร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องหักกลบลบหนี้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเลยขอชำระหนี้ด้วยสิ่งของอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 321 ซึ่งจำเลยจะทำได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยินยอมตกลงด้วยเท่านั้น แต่ได้ความว่าก่อนฟ้องและหลังฟ้องโจทก์กับจำเลยได้เจรจาตกลงกันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์จึงยึดหน่วงวงล้อรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ยังอยู่ที่โจทก์ไว้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยนำวงล้อรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ยึดหน่วงไว้ตีราคาชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีกเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยลักษณะหักกลบลบหนี้จึงให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยนำฟ้องแย้งไปฟ้องเป็นคดีใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6823/2551 เป็นฎีกาแพ่งแต่ผมเห็นว่ามีประเด็นเรื่องการนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้
จำเลยนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ว่า จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร ก. ให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือนและโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ทีได้ตกลงกันไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงวิธีการชำระหนี้ว่าได้ปฏิบัติต่อกันเช่นใด ไม่อยู่ในบทบังคับเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง
ข้อสังเกต
หนี้กู้ยืมเงินที่มีหลักฐานการกู้เป็นหนังสือ กฎหมายบังคับว่าจะนำสืบถึงการชำระหนี้เงินกู้ ได้ต่อเมื่อมีหลักฐานการชำระหนี้ เป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ให้กู้มาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือแทงเพิกถอนลงในเอกสารการกู้นั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ถ้าจะนำสืบพยานบุคคลว่าได้ชำระหนี้เงินกู้แล้วเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 94 (ก) เพราะเท่ากับเป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร แต่คำพิพากษาฎีกานี้เป็นการมอบบัตรเอทีเอ็มให้โจทก์เพื่อให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีของจำเลยทุกเดือนและโจทก์ยอมรับว่าได้รับบัตรเอทีเอ็มดังกล่าวไว้ถอนเงินจากบัญชีของจำเลย กรณีจึงถือว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้เงินกู้ จึงไม่ต้องห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร (ปัณณวิช เขียน)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2551 ท่อง kw เกี่ยวกับมาตรา 1469
..ป.พ.พ. มาตรา 1469 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างสมรสโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่เป็นธรรมและเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกัน ดังนั้น การที่ บ. และ พ. ได้ทำสัญญาระหว่างสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำไว้ต่อกันระหว่างเป็นสามีภริยากันว่า ห้ามไม่ให้บอกล้างหรือยกเลิกสัญญามีกำหนดระยะเวลา 20 ปี จึงถือได้ว่าข้อตกลงจะไม่บอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรส มีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
(หมายเหตุ คำพิพากษาฎีกานี่ผู้จัดทำได้ทำการย่อใหม่ โปรดอ่านหน้า 212 เล่ม 8 ประกอบ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2551 อ่านหมายเหตุ แต่ไม่ต้องอ่านไปถึงกฎหมายอาญาเยอรมัน
การที่จำเลยเอาเครื่องรับโทรทัศน์สี 1 เครื่อง เครื่องเสียงสเตอริโอ 1 เครื่อง ของกลางของผู้เสียหายไปจากบ้านของผู้เสียหายเพราะ ส. ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลย โดยจำเลยไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินอย่างอื่นเสียหาย คงยกเอาทรัพย์ของกลางไปเท่านั้นโดยจำเลยบอกว่าถ้าอยากได้คืนให้ ส. เอาเงินไปไถ่ ซึ่งวันรุ่งขึ้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลย ก็พบจำเลยและทรัพย์ของกลางดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยเอาทรัพย์ของกลางไปเพื่อให้ ส. หรือผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้ที่ค้างชำระต่อกัน การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (มีคำพิพากษาฎีกา 2549/32 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์)