ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blog คำพิพากษาฎีกา ประเด็น ภาษาเขียนที่น่าสนใจ ^^ อัพเดท 23/12/53

รูปภาพของฉัน
ปรับปรุงเพื่อทำเป็นสารบัญครับ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

คำถาม ทรัพย์ (แต่งเอง)

คำถาม
ดาวเป็นเจ้าของที่ดิน 2 ไร่ โดยดาวได้ปลูกบ้านลงบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งที่ดินของดาวมีที่ดินของหนึ่ง สอง สาม สี่ ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่สาธารณะ แต่ดาวได้อาศัยที่ดินของหนึ่งเดินออกสู่ทางสาธารณะ โดยหนึ่งยินยอม ต่อมาดาวได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นสองแปลง แปลงละ 1 ไร่ โดยบ้านส่วนใหญ่อยู่บนที่ดินแปลงที่หนึ่ง บ้านส่วนน้อยอยู่ที่ดินแปลงที่สอง เป็นเนื้อที่ 10 ตารางวา ต่อมาดาวได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงที่ 2 ให้ต้น โดยต้นก็ทราบว่าที่ดินแปลงที่ 2 นั้นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ต้นเห็นว่าสามารถเดินผ่านที่ดินของสองออกสู่ทางสาธารณะได้ซึ่งสะดวกและเสียน้อยกว่าที่ดินแปลงอื่น เมื่อต้นเดินผ่านไปได้ 1 ปี สองได้เอารั้วมากั้นไม่ให้ต้นเดินผ่าน และเห็นว่าบ้านของดาวได้รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน

1.ต้นฟ้องขอให้บังคับสองเปิดทาง สองให้การต่อสู้ว่าต้นต้องผ่านที่ดินของดาวที่แบ่งขายให้ต้นเท่านั้น เพราะเป็นกรณีที่ต้นได้ที่ดินมาจากการแบ่งแยกของสองตามมาตรา 1350 ดังนั้น ต้นไม่มีสิทธิเดินผ่านที่ดินของสอง ถามว่าต้นจะฟ้องขอให้สองเปิดทางได้หรือไม่ ข้อต่อสู้ของสองฟังขึ้นหรือไม่
2.ต้นฟ้องขอให้ดาวรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของต้นได้หรือไม่

อยู่ในระหว่างการจัดทำเฉลย

คำพิพากษาฎีกา
D3408/51
ป.พ.พ. มาตรา 1349, 1350
บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 จะนำมาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ครั้นเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่คดีนี้เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดนผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ตามมาตรา 1349

ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ได้หลายทาง คือ ทางแรกโจทก์สามารถผ่านที่ดินของ ส. ผู้ซึ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไปออกทางที่ดินของ ด. โดย ส. และ ด. มิได้หวงห้าม ทางที่สองโจทก์สามารถออกทางที่ดินของ ป. และทางที่สามคือ ทางพิพาทนั้น โจทก์เพิ่งมาใช้ในภายหลัง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของ ส. ด. และ ป. ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 เดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมากและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


D5103/47ป.พ.พ. มาตรา 1349
การขอทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต กล่าวคือ ต้องไม่รู้ว่าที่ดินที่ตนได้มาถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะมาก่อน หากรู้มาก่อนถือว่าไม่สุจริตไม่มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้แต่อย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป เพราะสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ ซึ่งหากจำเลยได้รับความเสียหายจากการเปิดทางจำเป็นดังกล่าว จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 1349 วรรคสี่

มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น กับต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ตามมาตรา 1349 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์อยู่มีสภาพเป็นทางซึ่งใช้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว จึงเป็นทางจำเป็นที่สะดวกที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด

แม้ทางจำเลยที่โจทก์ขอผ่านจะเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้น และตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร แม้มีกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้วทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18, 30 วรรคแรก และ 32 ก็ตาม แต่เมื่อถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินที่ตกเป็นสาธารณูปโภค จึงหาขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 ไม่

D381/51ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312
การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ

คำถาม-คำตอบ จำนอง (แต่งเอง) ^^

คำถาม
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 แดงได้กู้ยืมเงินดำ 1 ล้านบาท โดยนำบ้านและที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้จำนวนเงินดังกล่าว โดยก่อนกู้ยืมเงินนั้นในที่ดินดังกล่าวแดงได้ทำสวนมะม่วงและให้ต้นญาติของตนมีสิทธิเก็บมะม่วง ต่อมาอีก 3 เดือน ดำได้ส่งจดหมายไปบอกให้แดงชำระหนี้ภายใน 1 เดือน ในระหว่าง 1 เดือนนั้น แดงจึงได้เอาบ้านไปให้ดาวเช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดาวก็ทราบว่าแดงได้จำนองบ้านไว้กับดำแล้ว พอครบกำหนด 1 เดือน ดำจึงได้ฟ้องบังคับจำนองพร้อมกับฟ้องขอให้ลบสิทธิการเช่าบ้านของดาวและสิทธิเก็บกินของต้น แดงต่อสู้ว่าดำไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือ การบอกกล่าวไม่ชอบ ดำไม่มีอำนาจฟ้อง
ถามว่า
1. ดำมีสิทธิบังคับจำนองพร้อมกับฟ้องขอให้ลบสิทธิการเช่าบ้านของดาวและสิทธิเก็บกินของต้นได้หรือไม่
2. ข้อต่อสู้ของแดงฟังขึ้นหรือไม่

เฉลย
การที่แดงได้นำบ้านและที่ดินของตนมาจำนองเป็นประกันหนี้จำนวนเงิน 1 ล้านบาท สัญญาจำนองของแดงบังคับได้ เพราะทรัพย์สินที่แดงนำมาจำนองเป็นทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 705 และเป็นการจำนองประกันจำนวนหนี้กู้ยืมที่มีกำหนดจำนวนแน่นอนตามมาตรา 708 การนำบ้านและที่ดินของแดงมาประกันหนี้ถือว่าเป็นการจำนองตามมาตรา 702

ดำไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ลบสิทธิการเช่าของดาว เพราะการเช่าไม่ใช่ทรัพยสิทธิหรือภาระจำยอมที่ดำผู้รับจำนองจะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิในการบังคับจำนองและขอลบสิทธิการเช่าออกจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามมาตรา 722 (D377/78)และดำก็ไม่มีสิทธิขอให้ลบสิทธิเก็บกินของต้นได้ เพราะถึงแม้ว่าสิทธิเก็บกินจะเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งที่ดำผู้รับจำนองสามารถขอเพิกถอนสิทธิเก็บกินได้ก็ตาม แต่จะต้องเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังการจำนองเท่านั้น แต่สิทธิของต้นเกิดก่อนการนำที่ดินมาจำนอง ดังนั้น ดำจึงไม่มีสิทธิขอให้ลบสิทธิเก็บกินนี้ได้ตามมาตรา 722

การฟ้องขอให้บังคับจำนองของดำนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะการบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ใช่แบบเพื่อความสมบูรณ์ของนิติกรรม ดังนั้น แม้ดำได้มีจดหมายบอกกล่าวไปยังแดงว่าให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรก็ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบตามมาตรา 728 แล้ว (เทียบเคียง D3081/45)

D377/2478 การเช่าไม่ใช่ทรัพยสิทธิหรือภาระจำยอม ผู้รับจำนองจะอ้างว่าเป็นการทำให้เสื่อมเสียสิทธิในการบังคับจำนองและขอลบสิทธิการเช่าออกจากทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 722 ไม่ได้

D3081/45 โจทก์ได้มอบอำนาจด้วยวาจาให้นายสรรค์ทนายความเป็นผู้บอกกล่าวบังคับจำนองและต่อมาโจทก์ก็ได้แต่งตั้งให้นายสรรค์เป็นทนายความฟ้องร้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น ปพ.พ. มาตรา 728 ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำตามแบบอย่างใดบ้าง ผู้รับจำนองเพียงแต่มีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควรก็ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับ
จำนองที่ชอบด้วยบทมาตราดังกล่าวแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ใช่แบบเพื่อความสมบูรณ์ของนิติกรรม ดังนั้น แม้โจทก์จะมอบอำนาจให้นายสรรค์เป็นตัวแทนบอกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ ก็ไม่เป็นโมฆะ นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองที่นายสรรค์ได้กระทำการไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดี ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ลูกหนี้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วเช่นเดียวกัน (นอกจากนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 3689/2545, 2239/2547 และ1657/2550 วินิจฉัยไว้ทำนองเดียวกัน)

(**ได้แนวคิดมาจากชีทท่านนวรัตน์ จำนอง จำนำ ชีทบรรยายเนติทบทวนวันอาทิตย์ http://www.thaibar.thaigov.net/sheet/navarat/3-52.pdf)

ประเด็นที่น่าสนใจ

1. ประเด็นเรื่องการได้มาโดยพินัยกรรม (มาตรา 1299)

การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ถ้าเป็นการได้มาโดยทางพินัยกรรม ต้องแยกพิจารณาโดยถือตามแนวฎีกาดังนี้

1) พินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม อยู่ในบังคับมาตรา 1299 วรรคสอง (D1812/06)

D1812/06 ตามทางพิจารณาได้ความว่าที่พิพาทและที่ภายในเส้นสีดำตามแผนที่วิวาทเดิมเป็นที่ของนางเวียง แล้วตกได้แก่นางเพิ่มและนายคงบุตรสาวและบุตรเขย ต่อมานางเพิ่มตาย นายคงได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินรายนี้ให้โจทก์ นายคงตายที่ดินจึงตกได้แก่โจทก์ตามพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ เพราะที่ดินเป็นของโจทก์แล้วตามพินัยกรรมโจทก์หาจำต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่พิพาทแล้วจึงจะมีอำนาจฟ้อง

2) พินัยกรรมให้สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมอยู่ในบังคับ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง (D1840/14(ป))

D1840/14(ป) การที่จำเลยร่วมได้มาซึ่งสิทธิอาศัยอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยพินัยกรรม เป็นการได้สิทธิมาโดยนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคต้น จำเลยร่วมมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิอาศัยกับพนักงานเจ้าหน้าที่สิทธิอาศัยของจำเลยร่วมจึงไม่บริบูรณ์ การที่จำเลยเข้าอยู่ในเรือนพิพาทเพราะจำเลยร่วมให้อยู่แทนโดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมผู้หนึ่งมิได้ยินยอม เป็นการเข้าอยู่โดยไม่มีสิทธิ เป็นการละเมิดต่อโจทก์

2. ประเด็นเรื่องโรงเรือนรุกล้ำ มาตรา 1312

หลัก
วรรคหนึ่ง บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต บุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้นแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

1. ต้องพิจารณาว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นโรงเรือนตามความหมาย มาตรา 1312 หรือไม่
การสร้างโรงเรือนตามมาตรา 1312 หมายถึงการสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัย ดังนั้น จึงไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่น เช่น
- เสากำแพง (2036/36)
- ถังส้วม (2316/22)
- ฮวงซุ้ยหรือหลุมฝังศพ
- โรงรถ ท่อประปา ปั้มน้ำ แท็งค์น้ำ (951-952/42)

2.ต้องพิจารณาว่าเป็นการรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นนั้น ส่วนที่รุกล้ำจะต้องเป็นส่วนน้อย ส่วนที่อยู่ในที่ดินที่ตนปลูกสร้างต้องเป็นส่วนใหญ่ (3680/28)


3.ต้องพิจารณาว่าขณะก่อสร้างโรงเรือนผู้สร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของบุคคลอื่น
- ถ้ารู้ว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่น ถือว่าเป็นการก่อสร้างโดยไม่สุจริต
- ถ้าไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนจึงสร้างโรงเรือนไป ภายหลังรู้ความจริงก็ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต

ผล ของการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต
1. บุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้นแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม
2. ภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

วรรคสอง ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

สิทธิของเจ้าของที่ดินในกรณีที่บุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการไม่สุจริต
1. สิทธิที่จเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป
2. สิทธิที่จะให้ผู้สร้างโรงเรือนทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ข้อสังเกต
มาตรา 1312 ยังนำไปใช้กับบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีที่มีการปลูกบ้านลงบนที่ดินแล้วมีการแบ่งแยกที่ดิน ทำให้บ้านบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนแบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว (381/51)

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการนำมาตรา 1312 ไปใช้กับบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2552
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312, 1330, 1335, 1336

จำเลยปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและมีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2551
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1312

การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 142 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685 - 3686/2546
ป.พ.พ. มาตรา 4, 1310, 1312

บริษัท ด. เจ้าของที่ดินได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 11 คูหาขายโดยด้านหลังอาคารมีกำแพงรั้วคอนกรีตสูงประมาณ 2 เมตร กั้นยาวตลอดทั้ง 11 คูหาจำเลยที่ 4 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2525 ส่วนจำเลยที่ 5 ซื้ออาคารพาณิชย์เมื่อปี 2536จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ต่อเติมรั้วคอนกรีตเดิมซึ่งอยู่นอกโฉนดที่ดินที่ซื้อมาให้สูงขึ้นและมุงหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ส่วนโจทก์ซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2537 ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมรั้วคอนกรีตทั้งหมด ในกรณีรั้วคอนกรีตที่ได้มีการก่อสร้างไว้แล้วเดิมไม่มีบทกฎหมายมาตราใดที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้โดยตรง ในการวินิจฉัยคดีจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นเจ้าของรั้วคอนกรีตเดิม ส่วนรั้วคอนกรีตที่ต่อเติมให้สูงขึ้นและสิ่งปลูกสร้างด้านหลังอาคารพาณิชย์ ที่ต่อเติมขึ้นภายหลังไม่ใช่การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น หรือสร้างโรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นในที่ดินของผู้อื่น แม้จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะกระทำไปโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์ได้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1312 และมาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 จึงต้องรื้อออกไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2743/2541
ป.พ.พ. มาตรา 4, 420, 438, 1310, 1312, 1314, 1336

จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุง ถนนบนที่ดิน ที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน 4 ต้น โดยมี ส.เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนน และโจทก์รู้เห็นการก่อสร้างทั้งโจทก์และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ ไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ที่ 1 และที่ 3 ได้ โจทก์ตั้งหัวเรื่องในคำฟ้องว่า ละเมิด เรียกค่าเสียหายแต่ใจความในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า หากการรื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้าไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้จำเลยร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์คำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายรวมทั้งการปลูกสร้างรุกล้ำอันเป็นการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ด้วยศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าที่ดินแก่โจทก์ได้ สิ่งที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันแม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ เมื่อเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ป.พ.พ. มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310 บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย และเมื่อสิ่งปลุกสร้างคดีนี้ เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ย่อมไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ผู้ที่ยึดถือจะได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

คำพิพากษาฎีกาอาญาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 413/2552

จำเลยยังมิได้พาเตาอบไฟฟ้าของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าของผู้เสียหาย แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ

หมายเหตุ (โดยท่านไพโรจน์ วายุภาพ) การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการเอาทรัพย์ไปเป็นความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์เคลื่อนที่ การที่จำเลยเคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์เป็นการเอาทรัพย์ไป จึงเป็นความผิดสำเร็จ การผ่านจุดชำระเงินโดยไม่ชำระเงิน เป็นเรื่ององค์ประกอบภายในที่แสดงว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่เท่านั้น เนื่องจากการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าต้องนำสินค้ามาชำระเงินแก่พนักงานเก็บเงินเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่ผ่านจุดชำระเงิน จำเลยยังชำระเงินได้ การพิสูจน์ถึงเจตนาทุจริตก่อนนั้นจึงทำได้ยาก ดังนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตและเคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าก็เป็นความผิดสำเร็จ แม้เปลี่ยนใจยอมชำระเงินตอนผ่านจุดชำระเงินก็ไม่เป็นการพยายามกระทำความผิด หรือไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 5980-5981/2539
**เป็นคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ ผมเห็นว่าควรจะอ่านทั้งย่อสั้นและย่อยาวเพื่อความเข้าใจ

ป.อ. มาตรา 335

ป.วิ.อ. มาตรา 2(4)

การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัท อ. ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัท อ. เพื่อนำไปส่งอีกที่หนึ่งถือว่าบริษัท อ.ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วจำเลยที่ 1 หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหายแม้ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วย เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (1) (7) วรรคสาม ,83 เท่านั้น
________________________________

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2

โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชล และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันลักทรัพย์น้ำยางพาราจำนวน 4,000 กิโลกรัม ราคา 60,000 บาท ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335, 83

จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1), (7), (11) วรรคสาม, 83 จำคุก คนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน

จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า " พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และนายนริศ วิเศษ เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลผู้เสียหายซึ่งประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าประเภทของเหลว โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งคนขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0368 สุราษฎร์ธานี มีรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0369 สุราษฎร์ธานี พ่วงท้าย ส่วนนายนริศเป็นคนขับรถที่สองและเป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1 ประจำรถ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 กับคนขับรถคันอื่น ๆ รวม 4 คันของผู้เสียหายได้รับคำสั่งให้ไปบรรทุกน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต ต่อมาเช้าวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ตได้โทรศัพท์แจ้งมายังผู้เสียหายว่า รถยนต์บรรทุกน้ำยางพารามาถึงแล้ว 3 คัน ยังขาดอีก 1 คัน คือคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ในวันเดียวกันนายกุศล หัถถการ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการของผู้เสียหายไปตรวจสถานที่ที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกไปจอดพบน้ำยางพาราถูกถ่ายใส่ถังน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 20 ใบ จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอพนม แล้วนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาพันตำรวจตรีบัญชาอินทะวงศ์ จับจำเลยที่ 2 ได้

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนายนริศ วิเศษ พยานโจทก์ว่าพยานเป็นคนขับรถที่สองของผู้เสียหาย ในวันเกิดเหตุพยานได้ไปกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกน้ำยางพาราที่บริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด โดยมีรถพ่วงไปด้วยเพื่อที่จะนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต ระหว่างทางเมื่อมาถึงเขตอำเภอพนม เป็นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 จอดรถไว้ข้างทางแล้วลงไปคุยกับชายอีกหลายคนประมาณ 1 ชั่วโมงจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถต่อไปโดยมีชายคนหนึ่งขับรถยนต์กระบะนำหน้าขับไปได้ประมาณ 2 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ปลดรถพ่วงไว้ข้างทางแล้วขับรถยนต์บรรทุกที่ใช้ลากจูงเข้าไปในสวนยางพาราประมาณ 2 กิโลเมตรพบแท็งก์น้ำข้างทาง 1 ใบ และถังน้ำขนาด 200 ลิตร อีก 12 ใบจำเลยที่ 1 ได้สูบน้ำยางพาราจากรถยนต์บรรทุกเข้าแท็งก์น้ำและถังน้ำแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร และสูบน้ำจากบ้านหลังหนึ่งเข้าถังน้ำยางพาราจนเต็มเท่าเดิมจากนั้นจำเลยที่ 1ขับรถกลับมาต่อรถพ่วงแล้วขับต่อไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับโดยนายกุศลเป็นผู้นำจับ ส่วนชายคนที่ขับรถยนต์กระบะนำหน้ารถของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 พยานเห็นจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ตอนที่จำเลยที่ 2 คุยกับจำเลยที่ 2 ข้างทางจนถึงตอนขนถ่ายนำยางพาราโดยอาศัยแสงสว่างจากไฟฟ้าหน้าบ้านในบริเวณนั้น พยานจึงเล่าเรื่องให้นายกุศลฟัง เห็นว่า นายนริศอยู่ในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับตลอดเวลาตั้งแต่ตอนที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบรรทุกน้ำยางพาราที่บริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัดจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ถูกจับ นายนริศย่อมมีโอกาสเห็นเหตุการณ์ได้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานย่อมสามารถจดจำจำเลยทั้งสองได้แน่นอนนายนริศรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันส่วนจำเลยที่ 2 นั้นนายนริศไม่เคยรู้จัก จึงไม่น่าเชื่อว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง ที่นายนริศยืนยันว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ร่วมกันขนถ่ายเอาน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปแล้วสูบน้ำใส่แทนนั้นน่าเชื่อว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเบิกความของนายนริศนี้โจทก์มีนายกุศลและพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนเชื่อมโยงและมีความสอดคล้องต้องกันกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.21 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้นำชี้จุดที่จำเลยที่ 1 นำรถไปถ่ายน้ำยางพารา จุดที่จำเลยที่ 1 นำรถไปเติมน้ำและจุดที่รถติดหล่มหลังจากเติมน้ำเข้าถังบรรจุน้ำยางพาราแล้ว ดังปรากฏตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.22 ด้วยเช่นนี้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลักน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปจริง สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น นอกจากโจทก์จะมีนายนริศเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ร่วมกันขนถ่ายเอาน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปแล้วสูบเอาน้ำใส่แทนดังที่ศาลฎีกาได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีบัญชา อินทะวงศ์ พยานโจทก์อีกว่าพยานเป็นผู้จับจำเลยที่ 2 โดยจับตามหมายจับเอกสารหมาย จ.15 ขณะจับพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.16 พันตำรวจตรีบัญชาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมโดยสมัครใจอันเป็นคำรับที่ทำให้ตนเสียประโยชน์ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้เมื่อพิจารณาประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.22 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดของจำเลยที่ 1ด้วยและจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เองก็รับว่าได้ร่วมไปกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกเข้าไปในสวนยางพาราแล้วจำเลยที่ 1 ได้ถ่ายน้ำยางพาราออกจากรถลงใส่ถังเช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ตามฟ้องจริง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

ปัญหาต่อไปมีว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วและเมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า น้ำยางพาราเป็นของบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลให้จำเลยที่ 1 ไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์จำกัด ถือว่าบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลแล้วจำเลยที่ 1 หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)วรรคสาม, 83 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จึงมิได้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสาม, 83 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม, 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

ผมจึงได้ลองแต่งเป็นคำถามพร้อมคำตอบดังนี้

คำถาม แดงเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งประกอบกิจการรับขนส่งน้ำยางพารา โดยแดงทำหน้าที่ในตำแหน่งคนขับรถยนต์บรรทุก เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2552 แดงได้รับคำสั่งให้ไปบรรทุกน้ำยางพาราจากบริษัท อ. เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึก โดยจะมีเขียวลูกจ้างของบริษัท อ. ขับรถกระบะนำไป ในเวลากลางคืนขณะที่แดงขับรถยนต์บรรทุกน้ำยางพาราไปส่งที่ท่าเรือ แดงได้ขับรถยนต์บรรทุกเข้าไปในที่ดินของม่วง แล้วแดงและเขียวได้ร่วมกันสูบน้ำยางพาราจากรถยนต์บรรทุกเข้าแท็งก์น้ำและถังน้ำ และสูบน้ำจากบ้านของม่วงเข้าถังน้ำยางพาราจนเต็มเท่าเดิม และนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึก

แดงและเขียวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด


คำตอบ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. เป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัท อ. เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึก การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ให้แดงไปรับน้ำยางพาราจากบริษัท อ. ถือว่าบริษัท อ. ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. แล้ว แดงหาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่ การที่แดงร่วมกับเขียวเอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ย่อมเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพารา

ความรับผิดของแดงต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. การที่แดงลักน้ำยางพาราซึ่งเป็นทรัพย์ที่อยู่ในการครอบครองของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ไป จึงเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของของผู้อื่น แดงจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และการลักทรัพย์ของแดงนั้นได้กระทำในเวลากลางคืน โดยร่วมกับเขียว ทรัพย์นั้นก็เป็นของนายจ้าง แดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างในเวลากลางคืน โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามมาตรา 335 (1) (7) (11) เมื่อการกระทำของแดงเป็นความผิดตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป แดงจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11) วรรคสอง

ความรับผิดของเขียวต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. เขียวมิได้เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. การที่เขียวร่วมกับแดงลักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ในเวลากลางคืนเขียวย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1 ) (7)วรรคสอง, 83 เท่านั้น แม้แดงจะเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ก็ตาม เขียวก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างของแดงเป็นเหตุเฉพาะตัวของแดงจึงมิได้มีผลถึงเขียวด้วย

ความรับผิดของแดงต่อม่วง การที่แดงได้ขับรถเข้าไปในที่ดินของม่วง เป็นการเข้าไปในที่ดินของม่วงโดยไม่มีเหตุอันสมควร แดงจึงมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และการกระทำนั้นได้กระทำโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้น และในเวลากลางคืน แดงจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ประกอบ 365 (2) (3)

และการที่แดงได้สูบเอาน้ำจากบ้านของม่วงใส่ในถังน้ำยางพารา การกระทำของแดงจึงเป็นเอาไปซึ่งทรัพย์ของม่วง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และได้กระทำในเวลากลางคืน โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในเคหสถาน แดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ในเวลากลางคืน โดยร่วมกันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) อีกบทหนึ่ง

ความรับผิดของเขียวต่อม่วง เขียวได้ร่วมกับแดงในขับรถเข้าไปในที่ดินของม่วงการกระทำของเขียวจึงเป็นตัวการร่วมกับแดงในการบุกรุกเข้าไปในเคหสถานในเวลากลางคืน โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป เขียวจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 ประกอบ 365 (2) (3) , 83

และเขียวได้ร่วมกับแดงในการสูบน้ำจากบ้านของม่วง การกระทำของเขียวจึงเป็นตัวการร่วมกับแดงในการกระทำความผิด เขียวจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถาน ในเวลากลางคืน โดยการกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8) , 83

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

คำพิพากษาฎีกาแพ่งที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2339/2551
ป.พ.พ. มาตรา 349, 350, 361, 366 วรรคสอง

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำ สัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดัง กล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4595/2551
ป.พ.พ. มาตรา 1388

บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทาง เดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดิน ที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟ้ฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดิน ที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าตามแนวยาวของทาง ภาระจำยอมด้านข้าง ไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการ เปลี่ยนแปลงในทางภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้
หมาย เหตุ (โดยท่านอาจารย์ไพโรจน์ วายุภาพ) ภาระจำยอมเรื่องทางเดิน เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 3378/11 และ 214/21 วินิจฉัยว่า การปักเสาไฟฟ้า วางสายไฟฟ้าบนทางภาระจำยอมเป็นการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระ เพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 แต่คดีนี้เป็นภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงต่างกัน ทั้งบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงเจริญมากขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่เดินตามแนวเดิม

คำพิพากษาฎีกาที่ 796/2552
อ่านหนังสือถาม-ตอบ เล่ม 4 ของท่านสมชายเจอฎีกาเกี่ยวกับโรงเรือนรุกล้ำที่น่าสนใจอยู่ 2 กลุ่ม คือ 796/2552 กับ 381/2551, 6593/2550 ท่านสมชายให้ข้อสังเกตว่า คำพิพากษาฎีกาปี 52 นี้ไม่ได้กลับบรรทัดฐานอีก 2 ฎีกา แต่ที่ผลออกมาต่างกันเพราะข้อเท็จจริงตาม 796/52 ที่ดินสองแปลงอยู่แล้ว และเจ้าของที่ดินปลูกบ้านคร่อมที่ดินทั้งสองแปลง แต่ข้อเท็จจริงที่ 381/51, 6593/50 เจ้าของที่ดินปลูกบ้านบนที่ดินแปลงเดียวกันแล้วมีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็น สองแปลง และ 796/52 สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330 ซึ่งต่างจาก 381/51,6593/50 ที่รับโอนที่ดินกันตามนิติกรรมสัญญาทั่วไปไม่ใช่การขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล

คำพิพากษาฎีกาที่ 796/52
ป.พ.พ. ม. 4, 1312, 1330, 1335, 1336
จำเลย ปลูกสร้างบ้านคร่อมลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ ติดกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กรณีจึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาเมื่อที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาด ไม่ว่าโจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและ มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ได้ดอกผลกับมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึด ถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดย มิชอบได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1335, 1336 เมื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูก สร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดิน พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและ สิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อย่างใด และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยบทกฎหมายที่ ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

คำพิพากษาฎีกา 2055/36
จากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
1.เช็ค พิพาทเป็นเช็คผู้ถือสามารถโอนด้วยการส่งมอบเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 โอนเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการสลักหลังและส่งมอบ ความจริงการสลักหลังนั้นไม่ใช่เป็นการสลักหลังโอนแต่เป็นการรับอาวัลเท่า นั้น เพราะว่าเป็นตั๋วผู้ถือไม่ใช่ตั๋วระบุชื่อ
2.คดีนี้ไม่มีประเด็นโดน ตรงว่าโจทก์เป็นผู้ทรงหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นกรณีตามมาตรา 917 นำมาปรับใช้เพราะว่าเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันขึ้นมาไม่ได้โต้เถียงกันไปถึง ประเด็นว่าตั๋วผู้ถือนั้นจะมีการห้ามเปลี่ยนมือได้หรือไม่ ท่านศาสตราจารย์จิตติ มีความเห็นว่า เช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือผู้ถือซึ่งไม่ได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ ถือออก ถ้ามีข้อความระบุว่าให้จ่ายเงินแก่ผู้รับเงินเท่านั้นก็หมายความว่าเป็นเช็ค ระบุชื่อซึ่งห้ามโอนไม่ถือว่าเป็นตั๋วผู้ถือ แต่ว่าฎีกาฉบับนี้ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้โดยตรงเป็นเพียงการตอบคำถามว่า เป็นผู้ทรงหรือไม่เป็นผู้ทรงเท่านั้น
3.ข้อความตอนท้ายที่ว่าส่วนจำเลย ที่ 4 คือธนาตารเป็นเพียงคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 กรณีนี้หมายความว่า ธนาคารเกี่ยวข้องกับผู้สั่งจ่ายเท่านั้นไม่มีนิติสัมพันธ์อะไรกับโจทก์ซึ่ง เป็นผู้ทรง เพราะฉะนั้นโจทก์จะฟ้องธนาคารเมื่อไม่มีการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไม่ได้ทั้ง ไม่เป็นกรณีละเมิดด้วย
4.ถ้อยคำตามมาตรา 917 ที่ว่าเมื่อตั๋วเงินมีข้อกำหนดว่าเปลี่ยนมือไม่ได้หรือข้อความทำนองเดียวกัน แล้วก็มีผลตามมาตรานี้ว่าตั๋วนั้นจะโอนกันได้ก็แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่าง การโอนหนี้สามัญ
(**ที่มา คำอธิบาย ตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ท่านประทีป เฉลิมภัทรกุล)

คำพิพากษาฎีกาที่ 5740/2551
ป.พ.พ.มาตรา 1349, 1359
ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น

โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ส. น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้ง แปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่น ซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำ ประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ได้ เพราะ ส. สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของตนเอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับของจำเลยไว้เพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น